RSS

โบราณสถานจังหวัดอุบลราชธานี

โบราณสถาน วัดทุ่งศรีเมือง

เมื่อเอ่ยถึงโบราณสถานวัดทุ่งศรีเมือง บุคคลทั่วไปมักจะนึกถึง “ หอไตรฯ กลางน้ำ ”ซึ่งเป็นหอพระไตรปิฎกที่เก่าแก่และงดงามที่สุด ประกอบด้วยศิลปะ 3 ชาติ ได้แก่ ศิลปะพม่า ศิลปะล้านช้าง (เวียงจันทน์) และศิลปะไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายกับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น รวมเอาไว้ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน น่าชื่นชมในฝีมืออัจฉริยะของ “ พระอริยวงศาจารย์ญาณ วิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าคณะเมืองอุบลฯ ผู้สร้างหอไตรฯ กลางน้ำแห่งนี้ เมื่อพุทธศตวรรษที่ 24 มีอายุเกินกว่า 150 ปี แล้ว หอไตรฯ กลางน้ำได้ชำรุดทรุดโทรม ตามกาลเวลาอายุขัย (ดูภาพประกอบ) ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2520 จึงมีสภาพสวยงามคุณค่าดังเดิม

          โบราณสถานสำคัญในวัดทุ่งศรีเมืองเคียงคู่กับหอไตรฯ กลางน้ำที่สร้างในยุคเดียวกัน โดยผู้สร้างท่านเจ้าคุณอริยวงศาจารย์ฯ (สุ้ย) เช่นเดียวกันคือ “ พระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง ” หรือที่เรียกกันว่า “ หอพระพุทธบาทจำลอง ” เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง และที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือมีงานจิตกรรมฝาผนัง เรื่องพุทธประวัติ และเวชสันดรชาดก รวมทั้งประวัติศาสตร์เก่าแก่ เรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ ของชาวชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จิตกรรมฝาผนังมีลักษณะงดงามตามศิลปะไทย ซึ่งธนาคารกรุงเทพ และสื่อมวลชนเคยนำไป เผยแพร่เป็นที่สนใจแพร่หลายมาแล้ว

 


หอไตรกลางน้ำ สภาพก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อ เดือนพฤษภาคม 2510

          อุโบสถหลังนี้มีอายุยาวนานเกือบ 200 ปี ย่อมมีการชำรุดทรุดโทรมเป็นธรรมดา ประกอบกับสถานที่ก่อสร้างอุโบสถเป็นพื้นที่ลุ่ม เพราะบริเวณทุ่งศรีเมือง และวัดมุ่งศรีเมืองเป็นแอ่งกระทะของเมือง อยู่ใกล้กับ “ หนองดินจี่ ” และอยู่ในแนวทางร่องน้ำจากบุ่งกาแซวผ่านใจกลางเมืองถึง ห้วยวังนอง

          อีกประการหนึ่ง การก่อสร้างอาคารสมัยโบราณไม่มีโครงสร้าง เช่น เสา คาน เหมือนการ ก่อสร้างอาคารในปัจจุบัน วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ เป็นอิฐที่ทำจากดินเหนียวผสมแกลบ ไม่ได้เผา จนแกร่ง เช่นอิฐสมัยนี้ การสร้างโบสถ์แบบโบราณ นำอิฐมาก่อเป็นผนังโบสถ์แล้วผนังอิฐนั้นรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคา เมื่อน้ำหนักมากเกินไป จึงเกิดการแตกร้าวที่ผนังอิฐหลายแห่ง ทางวัด เกรงว่าอุโบสถจะเกิดการทรุดเอนเอียง จึงมีการก่อกำแพงกว้างประมาณ 3.00 เมตร ที่ฐาน แล้วก่อกำแพงหาประมาณ 1.20 ขึ้นไปประกบผนัง ด้านหลังอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองจึงมีลักษณะพิเศษแปลกกว่าอุโบสถทั่วๆ ไปในส่วนผนังด้านหลัง และดูแข้งแรงบึกบึนดูดีไปอีกแบบหนึ่ง (ดูภาพาประกอบ)

          เมื่อผนังอุโบสถมีการแตกร้าวไม่สามารถรับน้ำหนักโครงหลังคาได้ จึงต้องตั้งเสาไม้แก่นขนาดใหญ่ 4 ต้น ด้านในผนังอุโบสถมีคานไม้สี่เหลี่ยมบนปลายเสาเชื่อมกันทั้ง 4 เสา เพื่อรับน้ำหนักโครงหลังคาอีกชั้นหนึ่ง อุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองจึงอยู่ในลักษณะคนชราที่ต้องเยียวยารักษา เพราะอาการมีแต่ทรงกับทรุด

          ที่หน้าบันหลังคาอุโบสถด้านหน้า มีตัวหนังสือไม้อ่านได้ว่า “ ซ่อมพุทธศักราช ๒๕๐๓ ” สอบถามรองเจ้าอาวาสได้ความว่า เป็นการซ่อมหลังคา ครั้งล่าสุดต่อจากนั้นมาก็ไม่มีการซ่อมแซมอีกเป็นเวลา 40 ปีเศษ ขณะนี้หลัวคาอุโบสถมีการชำรุดบางส่วนทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำฝน ไหลลงมาที่ผนังอุโบสถด้านใน ส่งผลกระทบต่อภาพ จิตกรรมฝาผนังอันหาค่ามิได้ ต้องหาทางแก้ไข โดยด่วน ก่อนที่ภาพจิตกรรมประวิติศาสตร์ จะลบเลือนหายไปไม่สืบทอดให้อนุชนรุ่นใหม่ได้ศึกษา

          เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2544 ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรแต่ตั้ง ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี รศ.ดร.วิโรฒ ศรีสุโร ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เสนอเรื่องนี้ต่อที่ประชุม ได้รับคำชี้แจงว่า กรมศิลปกรได้ส่งวิศวกรมาตรวจสอบแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2543 แต่ยังไม่มีงบประมาณเพื่อการนี้ จึงเฝ้าระวังโดยใกล้ชิด เพื่อรองบประมาณปีต่อๆ ไป

          เสร็จจาการประชุม รศ.ดร. วิโรฒ ศรีสุโร (ผู้ได้รับการยกย่องและประกาศเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่นฯ และรางวัลดีเด่นอีกมากมายซึ่งมีมาตุภูมิที่อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี แต่มีภรรยามาตุภูมิที่จังหวัดอุบลราชธานี) ได้ปรารภเรื่องนี้กับพี่บำเพ็ญ ณ อุบล และผู้เขียนซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดนี้ด้วย ว่าอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองชำรุด แตกร้าวมาก ทราบจากนาย คำหมา แสงงาม (ซึ่งเป็นลูกมือของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (สมจิต บุญรอด) เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืองในการบูรณะพระธาตุพนม เมื่อปี พ.ศ. 2444 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. 2529) ว่ากำแพงที่ประกบผนังด้านหลัวอุโบสถ เพื่อช่วยเป็นหลักยันนั้น ก็เสื่อมสภาพตามอายุ เป็นหลักยันไม่ได้แล้ว อุโบสถหลังนี้อาจพังทลายลงเมื่อไรก็ได้ เช่นเดียวกับการพังทลายของพระธาตุพนม เมื่อ 11 สิงหาคม 2518 จึงขอให้ชาวอุบลฯ ร่วมมือกันแก้ไขโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินแก้ และต้องเศร้าสลดกันทั้งเมือง ซ้ำยังจะถูกกล่าวว่า “ อุบลฯ มีของดีมากหลาย แต่ไม่มีใครช่วยกันดูแลรักษา ” และย้ำว่าได้พูดเรื่องนี้กับ ศ.ดร. ประกอบ วิโรจน์กูฎ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยความวิตกกังวลแล้ว


คณะทำงานประชุมหน้าอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง เตรียมการบูรณะ

          ผู้เขียนได้ประสานงานเรื่อนี้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้มีการประชุมกันที่ใต้ร่มไม้หน้าอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองเมื่อ 15 มีนาคม 2544 ร่วมกับ ศ.ดร. ประกอบ วิโรจน์กูฎ หลังจากนั้นได้ตรวจสภาพการชำรุดเสียหายของอุโบสถโดยละเอียด แล้วมีมติขอให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ ดำเนินการตามหลักวิชาการ

          ศ.ดร. ประกอบ วิโรจน์กูฎ (ชาวอุบลราชธานี ประธานศิษย์เก่าเบ็ญจะมะ-นารีนุกูล 2508 เป็นกรรมการระดับชาติหลายคณะ ผลงานดีเด่น มีชื่อเสียงหลายด้าน) ได้มีหนังสือที่ ทม 2104/21818 ลงวันที่ 28 มีนาคม 2544 เรียนอธิบดีกรมศิลปากรเพื่อให้ดำเนินการซ่อมแซมอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง หากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขออนุญาตให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีร่วมกับทายกทายิกา กรรมการวัดทุ่งศรีเมือง และชาวอุบลฯ ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันดำเนินการซ่อมแซมอุโบสถ หรือหอพระพุทธบาทแห่งนี้ เนื่องจาอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว การดำเนินการซ่อมแซมใดๆ ต้องได้รับอนุญาตจากรมศิลปกร ผู้เขียนได้ขอให้ นาย ภิรมย์ จีนะเจริญ เพื่อนเรียนหนังสือรุ่นเดียวกัน ที่พึ่งเกษียณอายุจากรองอธิบดีกรมศิลปากร ช่วยประสานงานเรื่องนี้อีกทางหนึ่ง

          กรมศิลปากรได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานีดำเนินการตามบันทึกข้อความที่ ศธ 0708/2493 ลงวันที่ 10 เมษายน 2544

          ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 นายพเยาว์ เข็มนาค หัวหน้าฝ่ายโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 และผู้ร่วมงานได้เข้าพบ ศ.ดร. ประกอบ วิโรจน์กูฎ เพื่อพิจารณาร่วมกันในเรื่องการซ่อมแซมอุโบสถวัดทุ่งศรีเมืองได้ข้อสรุปว่า การบูรณะอุโบสถจะต้องดำเนินการ 3 ส่วนได้แก่

  • การอัดฉีดน้ำปูน ( grouting) รองรับฐานอุโบสถ เพื่อป้องกันการทรุดตัว
  • การอัดฉีดน้ำปูน (grouting) ประสานบริเวณแตกร้าวของผนังและซ่อมแซมรอยแตกร้าว
  • การซ่อมแซมการรั่วซึมของหลังคา

          การดำเนินการตามข้อ 1 จะต้องตรวจสอบ ติดตามผลการทรุดตัวของฐานอุโบสถให้แน่ชัดเสียก่อน ส่วนข้อ 2 การอัดฉีดน้ำปูนเข้าประสานรอยแตกร้าวของผนัง น้ำปูนซิเมนต์ที่อัดฉีดเข้าไปนั้นมีความเค็มที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี หาน้ำปูนไหลไปเกาะติดผนังด้านในจะส่งผลกระทบต่อภาพจิตกรรมฝาผนัง ทำให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการซ่อมแซมผนังอุโบสถ ขอให้กรมศิลปากร โดยกลุ่มงานอนุรักษ์จิตกรรมและประติมากรรมติดที่ร่วมพิจารณาดำเนินการด้วยในชั้นนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบล จะประสานงานกับวัดทุ่งศรีเมืองดำเนินการซ่อมแซมหลังคาให้มาสภาพทีดีไม่รั่วซึม โดยจะทำการออกแบบบูรณะ และกำหนดรายการพร้อมทั้งประมาณการค่าใช้จ่ายในการบูรณะเสนอกรมศิลปากร พิจารณาต่อไป

          ข้อสรุปดังกล่าวข้างต้นนี้ นาย สถาพร ขวัญยืน ผู้อำนวยการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 8 อุบลราชธานี ได้รายงานให้กรมศิลปากรทราบ และแจ้งว่าจะได้ประสานงานกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลฯ และทางวัดทุ่งศรีเมือง โดยใกล้ชิดทุกขั้นตอน ตามบันทึกข้อความที่ ศธ 0708.15/717 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2544

          การบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานขงอชาติไทยในจังหวัดอุบลราชธานี ได้เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ขอเชิญชวนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้มีจิตกุศลทั้งหลาย ได้ร่วมมือร่วมใจกันในการนี้ เพื่อให้อุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งเป็นโบราณสถานล้ำค่า สถิตสถาพรยืนยงคงอยู่คู่เมืองอุบลฯตลอดไป

 

ใส่ความเห็น